ความตรง (Validity)

ความตรง คือ คุณสมบัติของเครื่องมือที่สามารถวัดได้ในสิ่งที่ต้องการวัด ตามวัตถุประสงค์และสถานการณ์ที่กำหนดไว้ 1. ความตรงตามเนื้อหา (Content validity) หมายถึง คุณสมบัติของเครื่องมือที่ใช้วัดเนื้อหาได้ครบตามขอบเขตที่กำหนดไว้ การพิจารณาว่าเครื่องมือมีความตรงตามเนื้อหามากน้อยเพียงใดนั้น พิจารณาจากเครื่องมือว่าครอบคลุมเนื้อหาต่างๆ ที่ต้องการวัดครบถ้วนเพียงใด ซึ่งการพิจารณาความตรงของแบบทดสอบนั้นอาจจะอาศัยตารางวิเคราะห์หลักสูตรเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา 2. ความตรงตามสภาพ (Concurrent validity) หมายถึงคุณสมบัติของเครื่องมือที่สามารถวัดพฤติกรรมต่างๆ ได้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในระยะเวลาเดียวกัน เช่น นักเรียน ม.4 ทำแบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้น ได้ผลการทดสอบสอดคล้องกับการทำแบบทดสอบมาตรฐานวิชาเดียวกัน แสดงว่าแบบสอบที่ครูสร้างขึ้นมีความตรงตามสภาพ 3. ความตรงเชิงพยากรณ์ (Predictive validity) หมายถึง คุณสมบัติของเครื่องมือที่สามารถพยากรณ์พฤติกรรมต่างๆ ได้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในอนาคต เช่น ถ้าผลการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยวิชาคณิตศาสตร์ มีความสอดคล้องกับผลการสอบคณิตศาสตร์ เมื่อนักเรียนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 แสดงว่าแบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความตรงเชิงพยากรณ์ 4. ความตรงตามทฤษฎี (Construct validity) หมายถึง คุณสมบัติของเครื่องมือที่สามารถวัดหรืออธิบายพฤติกรรมหรือสิ่งที่ต้องการวัดได้ตรงตามทฤษฎี ส่วนใหญ่ความตรงตามทฤษฎีนั้นใช้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรมและวัดโดยตรงได้ยาก เช่น สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ความกระวนกระวาย บุคลิกภาพ เป็นต้น

Read More
Back To Top