วิทยากร : แนวทางการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับโรงเรียนในสังกัด สช. อุบล ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ สุรินทร์
ได้รับโอกาสดีอีกครั้งที่ทางสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. ได้เชิญให้ไปเป็นวิทยากรแนะนำคุณครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ สำหรับโรงเรียนเอกชนในสังกัด สช. จังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ อำนาจเจริญ และยโสธรครับ มีครูเอกชนเข้าร่วมอบรม 160 กว่าคน จริงๆ แล้วครูเอกชนก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาเรื่องของการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณเช่นกันครับ ที่ผ่านมาแทบไม่มีโครงการให้ความรู้ด้านนี้กับครูเอกชนเลย ปัญหาที่พบคือเอกชนหลายๆที่ยังไม่สอนวิชานี้ ครูไม่รู้จะสอนอย่างไรครับ ช่วงนี้สำนักงานการศึกษาเอกชนจึงมีโครงการพัฒนาครูเอกชนให้รู้จักวิชานี้ และก็เป็นครั้งแรกของผมที่มา จ.อุบลฯ ครับ นอกจากแนะนำที่ไปที่มา มาตรฐาน ตชว. และแนวทางในการจัดหลักสูตรแล้ว ได้แนะนำเพิ่มเติมว่าในส่วนของ computer science และการแก้ปัญหาตามวิธี computational thinking มันช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้จริงๆ นะ ตัวอย่างที่ชอบนำมาพูดก็คือการทำแกงส้มที่ผมทำไม่เป็นนี่ล่ะครับ ใช้หลักการแยกย่อยปัญหาได้ดีมากๆ หรือเคสล่าสุดที่เจอคือมีนักเรียนอยากส่งเกมประกวด แต่ไม่เคยทำเกมมาก่อน ในห้องเรียนก็ไม่มีสอน ถ้าเด็กๆมาถามแล้วผมบอกไปว่า ครูก็ทำไม่เป็น อย่าไปทำเลย ความตั้งใจเค้าคงหมดลงแน่ๆ แต่เราสามารถใช้หลักการแยกย่อยปัญหามาช่วยได้ครับ ทำเกมไม่เป็น ไม่เคยทำก็ไม่เป็นไร งั้นเรามาวิเคราะห์กันว่าจะทำเกมได้อย่างไร มีเครื่องมืออะไรบ้าง เครื่องมือไหนน่าจะง่ายและเรียนรู้ได้เร็ว หลักการทำเกมมีอะไร สุดท้ายแล้วหลังจากมองปัญหาย่อยๆ เด็กได้เครื่องมือทำเกมที่ส่งประกวดได้ทันเวลาครับ มีเรื่องเล่าให้ครูฟังอีกมาก แต่ต้องเดินทางกลับแล้ว หวังว่าจะมีโอกาสมาอีกนะครับ…