ได้รับเกียรติจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปบรรยายในหัวข้อ “สอน Coding อย่างไรให้ประสบความสำเร็จในสถานศึกษา” ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในวันนี้ครับ (วันที่ 19 ก.ย. 2562)
เป็นอีกงานหนึ่งที่ผมต้องเตรียมการและเตรียมตัวไปให้ดีที่สุด เพราะผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้บริหารส่วนราชการครับ ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และหน่วยงานอื่นๆ
ถึงแม้ว่าจะให้ผมมาพูดในหัวข้อการสอน Coding ในโรงเรียน แต่งานนี้ผมก็ไม่ได้มาพูดเฉพาะ Coding ครับ เพราะ Coding เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นในสาระของหลักสูตรใหม่ แต่พูดทั้งหมดเลยตั้งแต่ที่ไปที่มาของการเกิดหลักสูตรนี้ หลักสูตรนี้สำคัญอย่างไร มีสาระสำคัญอะไรบ้าง จะออกแบบหลักสูตรอย่างไร กิจกรรมการสอนจะสอนอย่างไรให้ตรงตามตัวชี้วัด และการวัดประเมินผลครับ
หากเปิดใจแล้ว ผมว่าวิชานี้ไม่ได้ยากเกินความสามารถคุณครูที่จะมาสอนหรอกครับ แม้ว่าจะไม่จบสาขาคอมพิวเตอร์มาโดยตรงก็ตาม เพียงคุณครูเริ่มต้นศึกษามาตรฐาน ตัวชี้วัด ก็จะเห็นว่าจริงๆ สอนวิทยาการคำนวณนั้นไม่ยากเลย แค่มีกิจกรรมมาให้เด็กๆ ได้คิดเยอะๆ ได้ทำเยอะๆครับ
และก็ยังเน้นย้ำเสมอว่าวิทยาการคำนวณหรือการ Coding ก็ตาม ไม่ใช่การสอนหุ่นยนต์ ไม่ใช่การสอนแก้ปัญหาด้วยการเขียนโปรแกรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเทคนิคการแยกย่อยปัญหา การหารูปแบบ และการหาแนวคิดเชิงนามธรรมอีกด้วย
ส่วนสาระก็ยังมี DL ที่จะช่วยให้สังคมเราสงบสุข และยังมี ICT ที่จะเพิ่มพูนทักษะด้านการทำ Data Visualization ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า Computer Science ครับ
แล้วก็ยกตัวอย่างการจัดกิจกรรมด้าน Computer Science ตั้งแต่กิจกรรม Unplugged, Block ถึงการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอน
ซึ่งเป้าหมายไม่ว่าจะเรียนด้วยสื่ออะไร ก็คือการฝึกคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ครบถ้วนทุกเงื่อนไข และได้อัลกอริทึมที่คิดว่าดีที่สุดที่จะใช้แก้ปัญหาใดๆ ครับ
ณัฐพล…รายงาน (หนังสือเชิญ)