ได้มีโอกาสไปเยือนพะเยากับเชียงรายเป็นครั้งแรกครับ เป้าหมายที่จะเดินทางไปคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พะเยา เขต 1 เป็นการอบรมครูผู้สอนวิชาวิทยาการคำนวณครับ ส่วนเชียงรายนั้นเป็นจังหวัดแรกที่เคยไปเหมือนกัน และที่ต้องไปเชียงรายเพราะต้องไปลงสนามบินที่นั่นเพื่อนั่งรถต่อไปพะเยาอีกประมาณ 90 กิโลเมตร
ในการมาบรรยายครั้งนี้ นอกจากจะเน้นย้ำเรื่องของหลักสูตร ตัวชี้วัด การจัดหลักสูตรของโรงเรียน รายวิชา และการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณที่ต้องสอนทั้ง 3 แกน ได้แก่ ICT DL และ Computer Science แล้ว ครั้งนี้ได้เจาะลึกเพิ่มมากขึ้นในส่วนของ Computer Science โดยเน้นไปที่แนวทางการจัดกิจกรรมให้เกิด Computation Thinking ทั้ง 4 ขั้นตอน ได้แก่ การแยกย่อยปัญหา การหารูปแบบ การหาแนวคิดเชิงนามธรรม และการเขียนอัลกอริทึม
โดยเฉพาะ 3 ส่วนแรก คือ การแยกย่อยปัญหา การหารูปแบบ และการหาแนวคิดเชิงนามธรรม เป็นสิ่งที่คุณครูยังไม่เข้าใจและยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยอยู่มาก โดยที่พบเห็นส่วนมากแล้ว จะเน้นไปที่เขียนโปรแกรมเลย มีโจทย์ให้คิดให้ทำหรือให้เขียนโปรแกรมแก้ปัญหาทันที แต่ยังขาดการพัฒนาเด็กให้ฝึกคิดใน 3 ประเด็นแรกที่กล่าวไว้ครับ
เมื่อได้แนวคิด เข้าใจมาตรฐาน ตัวชี้วัด แนวทางการจัดหลักสูตร รายวิชาแล้ว เราก็จะเริ่มกิจกรรมกันเลย สำหรับครูประถมผมก็ยังเน้นย้ำเรื่องการใช้ Unplugged Programming ก่อน เพราะคุณครูสามารถนำไปปรับใช้ได้ และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือตามที่ผมยกตัวอย่างเท่านั้น ยังมีเครื่องมือ กิจกรรมอีกมากมาย ซึ่งคุณครูสามารถค้นหาได้จาก keyword ว่า “Unplugged Programming” พร้อมกับปัจจุบันก็มีเวอร์ชันภาษาไทยที่ ม.ธรรมศาสตร์ ได้แปลไว้ให้เรียบร้อยแล้วด้วยครับ
เมื่อเกิดทักษะทั้งทางด้านแนวคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) แล้ว เราก็จะจบกิจกรรม Unplugged เพื่อเข้าสู่กิจกรรมแบบ Block Programming ซึ่งกิจกรรมนี้เราไม่เน้นว่าต้องใช้เครื่องมือใด เพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมและความถนัดของคุณครู แต่คุณครูต้องมีความเข้าใจว่า Block Programming นี้สามารถนำไปพัฒนาเด็กๆ ให้เกิดแนวคิดเชิงคำนวณได้อย่างไรบ้าง และจะมีเทคนิควิธีการจัดกิจกรรมอย่างไร
บางโรงเรียนอาจจะใช้ Scratch บางที่อาจจะใช้ Micro:bit หรือบางที่ก็ใช้ Kidbright ครับ ซึ่งจุดนี้เราเน้นไปที่เข้าในหลักการ และกระบวนการที่จะเกิดกับเด็กครับ เพราะพื้นฐานของโปรแกรมแนวๆ นี้ก็จะเหมือนๆ กันอยู่แล้ว
สำหรับที่พะเยานี้ ผมสามารถรวบรัดแบบแรพเปอร์ได้ทั้ง Scratch และ Micro:bit แต่คุณครูอาจจะต้องไปทบทวนเพิ่มเติมอีกหน่อยครับตามเอกสารที่ให้ไว้
ซึ่งทุกครั้งที่ไปบรรยาย ผมก็จะแนะนำครูประมาณนี้ เป้าหมายคือครูนำไปใช้ได้จริงๆ หยิบกิจกรรมที่มีให้ไปใช้กับเด็กได้เลย ซึ่งใช้แล้วครูต้องรู้ด้วยว่ากิจกรรมนี้ตอบตัวชี้วัดไหนครับ
ช่วงนี้อาจจะเหนื่อยๆ หน่อย แต่เดี๋ยวครูเข้าใจแก่นของวิชานี้แล้วก็คงจะร่วมกันพัฒนาเด็กไทยให้มีทักษะนี้ยิ่งๆ ดีๆ ขึ้นต่อไป