สพฐ. ร่วมกับ สสวท จัดการอบรมให้กับครูในโรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ สพฐ. และ พสวท. กิจกรรมนี้ได้รับเกียรติจาก สสวท. ให้ไปเป็นทีมงานวิทยากรในการอบรมครูตั้งแต่วันแรก (23 พ.ค. 62) ในการเตรียมการ เตรียมอุปกรณ์ และดำเนินการอบรมในส่วนของคอมพิวเตอร์ครับ ซึ่งก็คือการพัฒนาระบบอัตโนมัติด้วย Arduino
โดยวันแรกคุณครูจะแยกอบรมตามสาขาวิชา (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิต คอม) สำหรับคอมพิวเตอร์ จะเป็นการอบรมเกี่ยวกับระบบอิเล็กทรอนิกส์และไมโครคอนโทรลเลอร์
สำหรับวันที่สองเป็นการทำงานบูรณาการ ซึ่งคือการพัฒนาระบบเลี้ยง raiwa(สัตว์สมมติ) ซึ่งต้องมีแสง สารละลายที่มีอาหารในระบบที่ raiwa เติบโตได้ (กำหนดเงื่อนไขในการเจริญเติบโต)
ต้องบอกว่าครูแต่ละสาขาบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันและทำเป็นระบบจนสำเร็จ เป็นการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายว่าองค์ความรู้ที่เราเรียนมานั้นมันช่วยเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกันร่วมกับสาขาอื่นเพื่อให้ได้นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพจริงๆ
สำหรับหลักสูตรการอบรมนี้ ขออนุญาตนำข้อสรุปของอาจารย์ธีรวัฒน์ ประกอบผล มาเผยแพร่ ดังนี้ครับ
“สรุปการสอนวิชาเทคนิคปฎิบัติการพื้นฐานวิทยาศาสตร์ สำหรับห้องเรียน พสวท และห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์”
…
สรุปตามที่แจ้งครูผู้ที่ฟังบรรยายว่าผมจะสรุปให้นะครับ
..
รหัสวิชา คือ ว.30292 เทคนิคปฎิบัติการพื้นฐานวิทยาศาสตร์ 2 (คอมพิวเตอร์) วิชานี้มุ่งเน้นทักษะการทำโครงงานบูรณาการ ได้แนวคิดในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ในอนาคต
…
เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 บท จำนวน 40 ชั่วโมง คือ
บทที่ 1. การแก้ปัญหาและการเขียนโปรแกรมพื้นฐาน
บทที่ 2. การพัฒนาระบบอัตโนมัติ
บทที่ 3. การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
บทที่ 4. การพัฒนาโครงงานเทคโนโลยี
….
การเรียนการสอนวิชานี้จะไม่มุ่งเน้นที่เอาต์พุตหรือผลลัพธ์มากนัก แต่จะให้นักเรียนคิดบูรณาการอย่างเป็นขั้นตอน เมื่อนักเรียนนำเซ็นเซอร์มามาใช้ นักเรียนควรรู้ว่าการทำงานของเซ็นเซอร์เป็นอย่างไร เพื่อได้แนวคิดในการพัฒนาเซ็นเซอร์ใหม่ ๆ ในอนาคต ดังนั้นในการบรรยายผมจึงเน้นย้ำข้อแตกต่างระหว่าง ดีเท็คเตอร์ กับเซ็นเซอร์ให้เห็นกันชัด ๆ
…
นักเรียนที่เรียนวิชานี้ควรออกแบบวงจรได้ เลือกใช้เซ็นเซอร์ได้ นักเรียนไม่ควรทำงานได้เพียงการต่อตามแบบ แต่จะต้องอ่านวงจรให้ได้ แล้วต่อให้ได้เอง ดังนั้นนักเรียนควรมีความรู้ด้านวงจรไฟฟ้าพื้นฐาน การอ่านวงจร การอ่านไดอะแกรม และการอ่านค่าอุปกรณ์และคุณสมบัติของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถเลือกนำมาใช้ได้ถูกต้อง มากกว่าการต่อตามแบบที่จัดชุดมาให้ทดลอง
..
นักเรียนควรเขียนโปรแกรมให้ทำงานได้ให้ และเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสอนระดับพื้นฐานนั้นเรานำฟังก์ชันหรือบล็อกคำสั่งต่าง ๆ มาใช้ แต่สำหรับหลักสูตรนี้นักเรียนควรเข้าใจถึงการทำงานภายในบล็อกคำสั่งว่ามีหลักการอย่างไร โดยครูเลือกอุปกรณ์ที่น่าสนใจมาอธิบาย ตัวอย่างเช่น การวัดระยะทาง ควรคิดได้ว่าคำสั่งต่าง ๆ หาระยะทางมาได้อย่างไร และถ้าหากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น อุณหภูมิเปลี่ยน เราจะทำอย่างไรให้ได้ค่าที่ถูกต้อง
..
การจัดทำโครงงานด้านสมองกล นักเรียนควรเลือกไมโครคอนโทรลเลอร์ที่เหมาะสมมาใช้ในการทำโครงงานได้ตามต้องการ เลือกเซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์เอาต์พุตมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ถ้าหากไม่มีเซ็นเซอร์ที่วัดปริมาตรที่ต้องการได้โดยตรง นักเรียนควรรู้จักการวัดทางอ้อม เพื่อกลับมาหาค่าปริมาตรที่ต้องการให้ได้