สถิติ (Statistics) หมายถึง ระเบียบวิธีการทางสถิติ ซึ่งประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล การนำเสนอข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลความหมายข้อมูล
ชนิดของสถิติ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. พรรณนาสถิติ (Descriptive Statistics) เป็นสถิติที่มุ่งศึกษาและอธิบายลักษณะต่างๆ ของกลุ่มประชากรเป้าหมาย โดยทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากทุกๆ หน่วยของประชากร และวิเคราะห์ แปลความหมายในกลุ่มประชากรนั้นเท่านั้น
2. อนุมานสถิติ (Inferential Statistics) เป็นสถิติที่มุ่งศึกษาและอธิบายลักษณะต่างๆ ของกลุ่มประชากรเป้าหมาย โดยทำการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประชากร ทำการวิเคราะห์และสรุปผลไปสู่ประชากรเป้าหมาย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
2.1 สถิติพาราเมตริก (Parametric statistics) คือ อนุมานสถิติในลักษณะเมื่อมีการอ้างอิงถึงค่าสถิติ ซึ่งเป็นค่าที่คำนวณได้จากกลุ่มตัวอย่างกลับไปสู่ค่าพารามิเตอร์ ซึ่งเป็นค่าของกลุ่มประชากรนั้น จะมีการกำหนดลักษณะเฉพาะของค่าพารามิเตอร์ และการแจกแจงของกลุ่มประชากรที่สุ่มกลุ่มตัวอย่างมา
2.2 สถิตินอนพาราเมตริก (Nonparametric statistics) คือ อนุมานสถิติในลักษณะเมื่อมีการอ้างอิงถึงค่าสถิติ ซึ่งเป็นค่าที่คำนวณได้จากกลุ่มตัวอย่างกลับไปสู่ค่าพารามิเตอร์ ซึ่งเป็นค่าของกลุ่มประชากรนั้น จะไม่มีการกำหนดลักษณะเฉพาะของค่าพารามิเตอร์และการแจกแจงของกลุ่มประชากรที่สุ่มกลุ่มตัวอย่างมา
กลุ่มประชากรเป้าหมาย หมายถึง กลุ่มของสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่เราสนใจ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มของสิ่งของ คน หรือเหตุการณ์ต่างๆ
กลุ่มตัวอย่าง หมายถึง กลุ่มของสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่สนใจ
พารามิเตอร์ คือ ค่าหรือลักษณะที่รวบรวมหรือคำนวณได้จากกลุ่มประชากร ค่าพารามิเตอร์เป็นค่าคงที่
ค่าสถิติ คือ ค่าหรือลักษณะที่รวบรวมหรือคำนวณได้จากกลุ่มตัวอย่าง ค่าสถิติไม่ใช่ค่าคงที่ แต่เป็นตัวแปร เนื่องจากค่าสถิตินั้นจะมีค่าเปลี่ยนไปจากกลุ่มตัวอย่างหนึ่งไปยังอีกกลุ่มตัวอย่างหนึ่ง