หลังจากที่เข้ารับการอบรมตามโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของครุสภามา 3 วัน ก็ทำให้คนอย่างผมรู้ซึ้งในรสพระธรรมขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง จากการที่คิดว่าการสร้างบุญกุศลสามารถทำได้จากการให้ การบริจาค การเข้าวัดทำบุญ ก็ได้ความรู้ว่าการทำบุญยังมีวิธีอื่นอีกมากมายที่ไม่ใช่วิธีการข้างต้น
หลังจากเข้าวัดอบรมจิตใจ ก็ทำให้คิดได้ว่าหลักธรรมทางพระพระพุุทธศาสนาของเรานี้มีมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณค่า มีประโยชน์ อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ได้จริงกับการเรียน การทำงาน รวมทั้งการดำรงชีวิตในปัจจุบัน
พอออกจากวัดมาครั้งนี้ก็เลยคิดว่าจะทำหลักธรรมคำสอนที่ได้รับการอบรมมาเขียนไว้ใน blog ของเราเอง เขียนไปเรื่อยๆ ครั้งละเรื่องๆ ก็ยังดี อย่างน้อยก็ถือได้ว่าเราได้เผยแพร่และสืบทอดศาสนา ได้เผยแพร่ธรรมะให้กับสังคมออนไลน์ได้บ้าง
ทั้งนี้วันนี้ขอเริ่มด้วยเรื่องพื้นฐานก่อนเลยแล้วกัน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความจริงของชีวิตครับ
คำว่า “ชีวิต” ในทางพระพุทธศาสนาอธิบายไว้ว่า
- ชีว คือ อัตตาที่ทำสัตว์ให้เป็นอยู่ มีอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ล่วงลับไปแล้วก็พินาศไป
- ปริส คือ อัตตาที่ยังความอยากของสิ่งที่อาศัยตนให้บริบูรณ์
- อตฺต คือ ตัวตนที่ทำให้สัตว์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
พระพุทธศาสนาอธิบายสิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมกันแล้ว ตัวตนที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายไม่ปรากฏ เมื่อแยกออกแล้วจะไม่มีตัวตนแท้จริง ในที่นี้ จะแสดงส่วนประกอบที่เป็นรูปลักษณ์ขันธ์ 5 เรียกเป็นภาษาธรรมว่า เบญจขันธ์ ครับ ได้แก่
- รูป (Corporeality) ได้แก่ ส่วนประกอบฝ่ายที่เป็นรูปทั้งหลาย คือ ร่างกาย และพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย
- เวทนา (Feeling, Sensation) ได้แก่ ความรู้สึกสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 และทางใจ
- สัญญา (Perception) ได้แก่ การกำหนดได้หมายรู้ คือ รู้อาการเครื่องหมาย รูปลักษณ์ต่างๆ เป็นเหตุให้จดจำอารมณ์นั้นๆ ได้
- สังขาร (Mental formations) ได้แก่ องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิตใจที่ปรุงแต่งจิตใจให้คิดดีหรือชั่วโดยวิธีการต่างๆ
- วิญญาณ (Consciousness) ได้แก่ ความรู้อารมณ์ทางประสาททั้ง 5 และทางใจ เช่น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น รู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
สรุปได้ว่า ชีวิตที่กล่าวมาข้างต้นนั้น หมายถึง ความเป็นอยู่ในการที่จะสร้างกุศลกรรมเพื่อทำให้ตนมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขสงบตลอดไป…
(ที่มา : หลักสูตรการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา)
ธรรมะเป็นสิ่ที่ควรศึกษา